- ประวัติความเป็นมา

    ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่การผลิตและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ภายในประเทศ ไม่ว่าจะสนับสนุนการผลิต หรือมาตรการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ กระทรวงศึกษาต้องเร่งสร้างและพัฒนาทักษะกำลังคนอาชีวศึกษาให้ทันเทคโนโลยี เพื่อรองรับและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายในเรื่องการยกระดับการพัฒนาและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา Zero Emission Vehicle (ZEV) ให้มีปริมาณเพียงพอและมีคุณภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น เรื่องของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การประกอบ     ยานยนต์ การบำรุงรักษา และการซ่อมบำรุงหลังการขาย รวมทั้งการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับระบบนิเวศ (Eco system) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การผลิตมอเตอร์ ระบบควบคุม และแบตเตอรี่ เป็นต้น

     สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานสะอาดในประเทศไทย ตามนโยบาย Big Rock ของรัฐบาลแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูป สนองนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม First S - Curve ในหัวข้อยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงด้านยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับผู้เรียนให้เกิดทักษะที่ตรงตามความต้องการ เพื่อเตรียมกำลังคนให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ รองรับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น 300 % สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู และพัฒนานักเรียน นักศึกษาให้มีความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย โดยสำรวจความต้องการแรงงานของตลาด และวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอและมีทักษะสมรรถนะที่จำเป็น พร้อมปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย จึงจัดพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาเทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้า โดยมีสถานศึกษานำร่อง 51 แห่งทั่วประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและสถานประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ

      วิทยาลัยเทคนิคตรัง เป็นหนึ่งในสถานศึกษาในสังกัด สอศ. นำร่องด้านรถไฟฟ้ายานยนต์สมัยใหม่ 51 แห่งทั่วประเทศ ในการเป็นสถานศึกษานำร่องการเปิดสอน หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาเทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลิตและพัฒนาคนให้ทันกับความต้องการของตลาดแรงงาน